อาการปวดร้าวลงขา สาเหตุเกิดจากอะไร มีวิธีการป้องกันได้ยังไงบ้าง

ปัญหาสุขภาพที่จะมาพูดถึงในวันนี้คือ อาการปวดร้าวลงขา ซึ่งถือเป็นความทุกข์ทรมานที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย และรบกวนการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างมาก หลายคนมีอาการรุนแรงจนต้องพบแพทย์ หรือทานยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อเลยทีเดียว แล้วคุณรู้หรือไม่ว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีป้องกันได้หรือไม่ วันนี้เราจะพาคุณไปหาคำตอบพร้อมๆ กันค่ะ

อาการปวดร้าวลงขา สาเหตุเกิดจากอะไร

อาการปวดร้าวลงขาคือ อะไร

อาการปวดหลังปวดหลังร้าวลงขาคือ อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อหลัง ข้อต่อกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งมักจะเกิดจากท่าทางที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่มีการบิดเอี้ยวตัว ก้มเงยตัว หรือการยกของหนักด้วยการใช้หลังเป็นประจำ เป็นต้น

อาการโดยทั่วไปที่สามารถสังเกตได้คือ มีอาการปวดหลังร้าวลงขาโดยอาจจะข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ บางรายอาจพบร่วมกับอาการชาและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา แต่จะมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นเมื่อก้มโน้มตัวมาทางด้านหน้า และเดินในระยะทางไกลไม่ได้

สาเหตุของอาการปวดร้าวลงขาที่พบได้บ่อย

1.เกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบ กรณีแรกเกิดจากกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างได้รับบาดเจ็บจากทั้งอุบัติเหตุ การใช้งานหลังผิดท่าทาง หรือการเกรฺ็งหลังทำงานเป็นเวลานาน เมื่อกล้ามเนื้อหลังเกิดการหดเกร็งมากกว่าปกติจะทำให้เกิดจุดกดเจ็บขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้นาน ปัญหาก็จะเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้เกิดอาการร้าวลงขา หรือชาขาได้

2.หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท

สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด หากมีอาการปวดร้าวลงขาคือ ความเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกสันหลัง โครงสร้างของหมองรองกระดูกสันหลังปกติตรงกลางจะบรรจุของเหลวอยู่ เมื่อภายนอกถูกใช้งานหรือได้รับการเสียดสีจนเสื่อมสภาพก็มีโอกาสที่จะออกมากดทับเส้นประสาทได้ โดยอาการที่พบคือ มีอาการปวดร่วมกับอาการชาอาจเกิดขึ้นบริเวณหลัง แต่โดยส่วนมากมักจะมีอาการร้าวลงขา

3.กระดูกสันหลังเสื่อม การเสื่อมโทรมของกระดูกส่วนมากพบในกลุ่มของผู้สูงอายุ โดยปกติของร่างกายมนุษย์แล้วหากกระดูกเกิดความเสื่อมโทรมขึ้น ร่างกายจะมีการซ่อมแซมโดยการนำแคลเซียมมาแปะไว้ และด้วยสาเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดเหตุการณ์กระดูกสันหลังงอกทับเส้นประสาทได้ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงขาได้นั่นเอง

วิธีป้องกันอาการปวดร้าวลงขา

สำหรับวิธีป้องกันต้องกลับไปจัดการแก้ไขตั้งแต่ต้นเหตุคือ ต้องปรับแก้ท่าทางการใช้งานร่างกายที่ไม่ถูกต้อง ร่วมกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยสามารถปฏิบัติได้ตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการก้มตัวหรือก้มหลังลงเพื่อยกของหนัก แนะนำให้ใช้วิธีย่อเข่าลงไปยกของแทน
  • หลีกเลี่ยงใช้ท่าทางที่มีการบิดเอี้ยวลำตัว
  • แนะนำให้เลือกนอนฟูกนอนที่มีความแน่นและแข็งเล็กน้อย เพื่อรักษาโครงสร้างและไม่ทำให้หลังงอจนเกินไป
  • ไม่ควรนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อเกร็งเครียดและบาดเจ็บได้ ควรลุกขึ้นเพื่อเพิ่มความผ่อนคลายหรือพักสายตาบ้างประมาณ 10-15 นาทีเมื่อทำงานติดต่อกัน 2 ชั่วโมง
  • แนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้อง และใช้ที่ช่วยพยุงกระดูกสันหลังให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง
  • ฝึกออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังเป็นประจำ
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดหลังรุนแรงมากขึ้นควรพบแพทย์และนักกายภาพบำบัด เพื่อช่วยแก้ไขอาการ

อาการปวดร้าวลงขา ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เรื้อรัง เพราะหากไม่ได้รับการรักษาที่ดี อาการอาจจะเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ขาอ่อนแรง และเดินลำบากมากยิ่งขึ้นได้