โรคไต คืออาการผิดปกติของไตที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จนทำให้ไม่สามารถกรองของเสียหรือสารพิษออกจากเลือด จึงทำให้ต้องขับของเสียออกทางปัสสาวะนั่นเอง จนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้อย่างเช่น โรคไตวาย โรคไตวายเรื้อรัง โรคไตอักเสบิ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือ โรคถุงน้ำที่ไต
สาเหตุและอาการของโรคไตเป็นอย่างไร
โรคไตถือว่าเป็นโรคที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความปกติของไตมาแต่กำเนิด เช่น พบว่ามีไตข้างเดียวหรือขนาดไม่เท่ากัน เป็นต้น เกิดจากอาการอักเสบ เกิดการอุดตัน ติดเชื้อแบคทีเรีย หรือมีเนื้องอกที่ไต สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคไตได้
อาหารที่ผู้ป่วยไตควรหลีกเลี่ยง
- อาหารที่มีโปรตีนสูง แม้ว่าโปรตีนจะถือว่าเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเพราะสามารถช่วยซ่อมแซมร่างกายให้แข็งแรงได้ แต่โปรตีนเหล่านี้ถูกเปลี่ยนเป็นกรดอะมิโนและไนโตรเจนที่ร่างกายไม่ทำการดูดซึม ฉะนั้นจะถูกขับออกมาทางไตและปัสสาวะ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น แต่ผู้ป่วยสามารถทานเพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณโปรตีนอย่างเหมาะสม คือ 0.6-0.8 กรัม ต่อน้ำหนักตัวที่ 1 กิโลกรัม
- อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง นอกจากคอเลสเตอรอลจะเป็นสาเหตุหลักของโรคอ้วนแล้ว ยังส่งผลเสียต่อไตโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่มีไข่แดง เนย มันหมู มันไก่ กะทิ เครื่องในสัตว์ หรือน้ำมันปาล์ม ฉะนั้นควรเลือกรับประทานหรือประกอบอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (MUFA) เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา เป็นต้น
- อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง โพแทสเซียมเป็นสาอาหารที่ส่งผลต่อระบบการทำงานของไต หากเรารับประทานอาหารที่มีจำนวนโพแทสเซียมมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดอาการไตวายได้ ฉะนั้นคุณควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของผักสีเขียวเข้มหรือสีเหลืองเข้มบางชนิด เช่น บรอกโคลี มะเขือเทศ มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง หรือ ฟักทอง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง ปัจจุบันอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมนั้นสามารถพบเจอได้ง่าย เช่น อาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง เครื่องปรุงรส และอาหารหมักดองเค็ม
แนะนำเมนูที่ผู้ป่วยโรคสามารถรับประทานได้
แม้ว่าผู้ป่วยโรคไตนั้นจะต้องระมัดการรับประทานอาหารต่างๆ แต่คุณยังสามารถเลือกรับประทานเมนูที่ปลอดภัยต่อร่างกายอื่นๆได้ เช่น ผัดเปรี้ยวหวานหมู ผัดบวบใส่ไข่ แกงจืดเต้าหู้หมูสับ ไก่กระเทียมพริกไทย ไก่ผัดขิง เห็ดหูหนู ลาบไก่ ผัดมักกะโรนีกุ้ง ผัดไทกุ้งสด และก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่
เนื่องจากเมนูเหล่านี้มีส่วนประกอบของ โปรตีน โซเดียม และโพแทสเซียมที่ไม่มาก ทำให้ผู้ป่วยโรคไตสามารถเลือกรับประทานอาหารเหล่านี้ได้ รวมไปถึงอาหารอื่นๆที่มีส่วนประกอบของ ฟักเขียว บวบ แตงกวา มะเขือยาว เป็นต้น หรือผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำ เช่น มังคุด ชมพู่ องุ่นเขียว เงาะ และแอปเปิล
นอกจากเมนูอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรให้ความสำคัญแล้ว ผู้ป่วยควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ และงดบุหรี่ พร้อมทั้งนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จะทำให้สามารถลดความเสื่อมของไตและทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นได้อย่างเห็นได้ชัด