กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท เกิดจากอะไร อาการเป็นแบบไหน วิธีการป้องกันทำได้อย่างไรบ้าง

กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทไม่ได้ถือเป็นเรื่องไกลตัวแต่อย่างใด เพราะปัจจุบันผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ มักต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน ซึ่งก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการนี้ได้ ดังนั้น วันนี้ทางเราจะมาแนะนำให้รู้จักกันว่า กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทเกิดจากอะไร มีอาการและวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท เกิดจากอะไร

กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท หรือ Piriformis Syndrome เกิดจากกล้ามเนื้อ Piriformis ที่วางตัวอยู่บริเวณก้น มีการอักเสบ หดสั้นหรือหดเกร็ง จนทำให้ไปกดทับเส้นประสาทขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า Sciatic nerve ที่ลอดผ่านใต้กล้ามเนื้อ Piriformis ส่งผลทำให้เกิดอาการปวดบริเวณก้นและร้าวลงไปถึงปลายขา

ในบางรายที่มีอาการรุนแรงก็จะเกิดการจำกัดการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน นั่ง และขับรถ เป็นต้น ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิด ได้แก่ การเคลื่อนไหวรยางค์ขาผิดท่า,  ออกกำลังกายมากเกินไป, นั่งเป็นเวลานาน หรือเกิดอุบัติเหตุล้มก้นกระแทกพื้น เป็นต้น

อาการของกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

  • ปวดหรือชาบริเวณก้นร้าวลงขาด้านหลัง (อาจจะเกิดข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้)
  • รู้สึกเจ็บเมื่อใช้มือกดบริเวณกึ่งกลางก้น
  • อาการปวดจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อนั่งเป็นเวลานาน หรือทำกิจกรรมที่ต้องขยับเคลื่อนไหวขา เช่น การเดิน วิ่ง ขึ้นบันได เป็นต้น
  • บางรายอาจพบอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาร่วมด้วย

การรักษากล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

สำหรับการรักษาโรคดังกล่าว สามารถทำได้ด้วย 6 แนวทางดังนี้

1.ประคบเย็นหรือร้อน วิธีการนี้จะช่วยลดอาการปวดลงได้ โดยในช่วงเริ่มแรกหากมีสัญญาณ 2 ใน 4 ของการอักเสบ (ปวด, บวม, แดง, ร้อน) บริเวณก้นให้เลือกประคบเย็นทุก 2-3 ชั่วโมงนานครั้งละ 15-20 นาที หากไม่มีการอักเสบแล้วให้เปลี่ยนไปประคบร้อน ด้วยวิธีเดียวกันกับการประคบเย็น

2.ทานยาแก้ปวด หากมีอาการปวดมากจนทนไม่ได้ สามารถทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน หรือพาราเซลตามอนได้

3.ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อก้น ท่าที่แนะนำให้ทำเริ่มแรกคือ ให้นั่งเหยียดขาราบกับพื้น ชันเข่าด้านที่มีอาการปวดพร้อมกับไขว้ขาพาดข้ามขาอีกข้าง จากนั้นใช้มือทั้ง 2 ข้างดันขาที่ชันเข่าเข้าหาตัวให้รู้สึกตึงบริเวณก้น ค้างไว้ 20 วินาที ผ่อนแรงและทำซ้ำ 3 ครั้ง

4.ใช้เครื่องกระตุ้นเส้นประสาท TENS เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดโดยการใช้กระแสไฟ

5.ฉีดยา เพื่อลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ

6.ผ่าตัด กรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีทั่วไปได้ รวมถึงอาการที่มีรุนแรงจนขัดขวางการใช้ชีวิต แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเพื่อคลายกล้ามเนื้อที่มีการเกร็งตัวหรือหดสั้น

สำหรับใครที่สุขภาพร่างกายยังแข็งแรง ยังไม่พบอาการดังกล่าว แนะนำให้หมั่นเฝ้าสังเกตตัวเองและออกกำลังกายเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อลำตัวและขาเป็นประจำ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดกลุ่มอาการนี้ได้ในอนาคต